โซเชียลรำลึก #6ปีรัฐประหาร โอดเศรษฐกิจสงบ จบที่ความเหลื่อมล้ำ

PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP

ผู้ใช้เว็บไซต์ทวิตเตอร์ในประเทศไทยจำนวนมาก โพสต์ข้อความรำลึกถึงการครบรอบรัฐประหารปี 2557 ครบ 6 ปี ในวันนี้ (22 พ.ค.) พร้อมติดแฮชแท็ก #6ปีรัฐประหาร จนทำให้แฮชแท็กนี้ติดกระแสความนิยมในเว็บไซต์ดังกล่าวที่อันดับ 4 เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น.

แฮชแท็กดังกล่าวส่วนใหญ่พูดถึงข้อเสียและความน่ารังเกียจของการรัฐประหารครั้งดังกล่าว ที่ทำให้ประเทศพัฒนาล่าช้า ขณะเดียวกันก็ถ่างช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน หรือความเหลื่อมล้ำ ให้กว้างออกจากกันไปอีก

เหลื่อมล้ำชั้นนำของโลก

ข้อมูลจากสถาบันวิจัยของธนาคารเครดิตสวิส เมื่อปี 2561 หรือ 4 ปีหลังจากการรัฐประหาร ระบุว่า ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดอันดับ 4 ของโลก ที่คะแนน 90.2 คะแนน หรืออันดับ 1 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สาเหตุที่ความเหลื่อมล้ำสูงขนาดนี้ เป็นเพราะข้อมูลที่พบว่า 91.7% ของผู้ใหญ่ทั้งประเทศมีรายได้ไม่ถึง 10,000 ดอลลาร์ (318,600 บาท) ส่วนผู้ใหญ่ที่มีรายได้ 10,000-100,000 ดอลลาร์ (318,600-3.19 ล้านบาท) คิดเป็นเพียง 7.5% ของผู้ใหญ่ทั้งประเทศ ขณะเดียวกันผู้ใหญ่ที่มีรายได้ 100,000-1 ล้านดอลลาร์ (3.19-31.86 ล้านบาท) มีแค่ 0.7% และผู้ที่มีรายได้เกิน 1 ล้านดอลลาร์ (31.86 ล้านบาท) คิดเป็นเพียง 0.1%

รายได้ (บาท)สัดส่วนผู้ใหญ่ทั้งประเทศ (%)
 น้อยกว่า 318,600 บาท91.7
318,600-3,186,000 บาท7.5
3,186,000-31,860,000 บาท0.7
มากกว่า 31,860,000 บาท0.1

ไร้ปฏิรูป

นอกจากนี้บางความเห็นยังระบุว่า คณะรัฐประหารสัญญาว่าจะคืนความสุขให้กับประชาชน แต่ที่ผ่านมายังไม่พบความสุขเลยแม้แต่น้อย ประชาชนหลายคนฆ่าตัวตายเพราะพิษเศรษฐกิจ หลายคนถูกคุกคามเพราะแสดงออกในแนวทางที่คณะรัฐประหารและผู้มีอำนาจไม่ชื่นชอบ

หลายคนยังทวงถามว่า ระยะเวลาของการรัฐประหาร 5 ปี และอีก 1 ปี ของรัฐบาลที่อยู่ภายใต้นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เป็นคนเดียวกับที่ก่อการรัฐประหาร ยังไม่พบว่าจะมีการปฏิรูปใดๆ เกิดขึ้นที่เป็นที่ประจักษ์ นอกจากการเขียนรัฐธรรมนูญให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยน้อยลงกว่าเดิม อย่างเช่น การที่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเลยแม้แต่คนเดียว

อย่างไรก็ตาม บางความเห็นใช้โอกาสนี้ชี้ให้เห็นถึงผลงานของรัฐบาล อาทิ การพัฒนาด้านการคมนาคมตลอด 5 ปีของการรัฐประหาร ที่เดินหน้าโครงการต่างๆ มากมาย อย่างเช่น รถไฟฟ้าหลายสายในกรุงเทพ โครงการรถไฟทางคู่ เรื่อยไปถึงโครงการรถไฟความเร็วสูง และโครงการมอเตอร์เวย์หลายสาย แต่ก็มีความเห็นแย้งว่า เพราะอยู่มานานถึง 5 ปี ที่มีกฎหมายพิเศษให้อำนาจเต็มที่ และอีก 1 ปีหลังการเลือกตั้ง คงจะแปลกมากกว่าถ้าไม่มีผลงานใดๆ เลย

โควิดเผยศักยภาพรัฐบาล

หลายความเห็นยังกล่าวถึงการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ล้มเหลวอีกด้วย อย่างเช่นความเห็นหนึ่งที่ระบุว่า จริงอยู่ที่ตัวเลขผู้ป่วยในไทยมีไม่มาก แต่จะมีน้อยกว่านี้มากถ้าไม่เกิดการแพร่ระบาดที่สนามมวยที่ทหารรับผิดชอบ แม้ภาครัฐขอความร่วมมือให้ยกเลิกการจัดการแข่งขันไปแล้ว แต่ไม่ปฏิบัติตาม เท่ากับว่ารัฐบาลเข้าไปก้าวก่ายกองทัพไม่ได้ หรือที่เรียกว่าภาวะ “รัฐซ้อนรัฐ” อย่างนั้นหรือไม่

ไม่ใช่แค่นั้น การจ่ายเงินเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งของรัฐบาลให้ปิดกิจการชั่วคราวเพื่อควบคุมโรคโควิด-19 ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ถูกชาวเน็ตวิจารณ์ว่า ช่วยเหลือไม่ถ้วนหน้าเพราะไม่ใช่ทุกคนที่ได้เงิน แถมมองประชาชนเป็นผู้ขอ ทั้งๆ ที่ประชาชนจ่ายภาษีหรือเป็นเจ้าของเงิน ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายอุตตม สาวนายน ก็เคยเป็นรัฐมนตรีมาแล้วในยุครัฐประหาร การที่ไม่ได้มีที่มาจากประชาชนจึงสงสัยว่านายอุตตมจะเข้าใจความยากลำบากของประชาชนมากน้อยเพียงใด

kimberly kimberly: