ประกันสังคม แจงสิทธิ์ เสียชีวิตรับค่าทำศพ 5หมื่น พร้อมเงินสงเคราะห์
มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 63 นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงแรงงาน ได้ออกประกาศกฎกระทรวง กำหนดอัตราเงินค่าทำศพ ในกรณีที่ผู้ประกันตน ถึงแก่ความตาย โดยมิใช่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน พ ศ 2563 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 2) พ ศ 2537
ลงนามโดย หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้มีการปรับเพิ่มการจ่ายสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย โดยมิใช่ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน จากเดิม 4 หมื่นบาท เพิ่มเป็น 5 หมื่นบาท เพื่อจ่ายเป็นค่าทำศพให้กับผู้จัดการศพ ซึ่งได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นไป
สำหรับเงื่อนไข และหลักเกณฑ์ในการขอรับสิทธิประโยชน์กรณีเสียชีวิตนั้น ผู้ประกันตนจะต้อง ส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 1 เดือน ภายในระยะเวลา 6 เดือนก่อนถึงแก่ความตาย โดยสำนักงานประกันสังคมจะจ่ายให้กับผู้จัดการศพ สำหรับเงินสงเคราะห์กรณีตาย จะจ่ายให้กับบุคคลที่ผู้ประกันตนระบุให้เป็นผู้รับสิทธิประโยชน์ทดแทน
โดยการทำหนังสือระบุไว้ ส่วนกรณีที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำหนังสือระบุไว้ สำนักงานประกันสังคมจะจ่ายให้ผู้มีสิทธิ์ตามกฎหมาย คือ บิดา มารดา สามีหรือภริยา และบุตร โดยจ่ายเฉลี่ยในอัตราคนละเท่าๆ กัน ดังนี้
-ถ้าก่อนถึงแก่ความตาย ผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 120 เดือน ให้จ่ายเงินสงเคราะห์เป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 2 เดือน
-ถ้าก่อนถึงแก่ความตายผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 120 เดือนขึ้นไป ให้จ่ายเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 6 เดือน ให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิสามารถขอรับประโยชน์ทดแทน ได้ภายใน 2 ปี
เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวในตอนท้ายว่า การปรับเพิ่มการจ่ายสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตายโดยมิใช่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน เป็น 50,000 บาท ในครั้งนี้ เพื่อความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และเป็นการ สร้างหลักประกันให้กับผู้ประกันตนได้ประโยชน์สูงสุด
Social