ด่วน!! ครม ไฟเขียว พรบ คู่ชีวิต เพศเดียวกันแต่งงานกันได้ ยึดหลักเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ

ด่วน!! ครม ไฟเขียว พรบ คู่ชีวิต เพศเดียวกันแต่งงานกันได้ ยึดหลักเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ

มีรายงานว่า วันนี้ (8 ก.ค.) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่าง พรบ คู่ชีวิต และร่าง พรบ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เสนอโดยกระทรวงยุติธรรม ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว เพื่อให้กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นธรรม เท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ และให้สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี

ทั้งนี้ ร่าง พรบ คู่ชีวิต ถือเป็นก้าวย่างสำคัญของสังคมไทย ในการส่งเสริมความเสมอภาคเท่าเทียมของคนทุกเพศ เป็นการรับรองสิทธิ์ในการก่อตั้งครอบครัวของคู่รัก ที่มีเพศเดียวกัน และเป็นเครื่องมือทางกฏหมายในการจัดการกับความสัมพันธ์ทางครอบครัว ได้เช่นเดียวกับคู่สมรส ครอบคลุมการจดทะเบียนและการเลิกการเป็นคู่ชีวิต สิทธิและหน้าที่ระหว่างคู่ชีวิต การจัดการทรัพย์สิน การรับบุตรบุญธรรมและมรดก

เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศ และสอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบัน อีกทั้ง ยังสอดคล้องกับเป้าหมายแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้วย

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ส่วนสิทธิอื่นๆ ที่อาจจะยังไม่มี เท่ากับการจดทะเบียนคู่สมรสชาย หญิง เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว ก็จะมีการประเมินผล เพื่อพัฒนาให้มีความเหมาะสมกับบริบทต่างๆ ต่อไป รวมถึง การปรับปรุงกฎหมายฉบับอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย

สำหรับ สาระสำคัญ ของร่าง พรบ คู่ชีวิต กำหนดให้ คู่ชีวิต หมายความว่า บุคคล 2 คนซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิด และได้จดทะเบียนคู่ชีวิตตาม พรบ นี้ , กำหนดให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเยาวชนและครอบครัว มีอำนาจ พิจารณาพิพากษาคดีตาม พรบ นี้ , กำหนดให้การจดทะเบียนคู่ชีวิตจะทำได้ ต่อเมื่อบุคคลทั้ง 2 ฝ่ายยินยอม มีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ และทั้ง 2 ฝ่าย มีสัญชาติไทย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย

กำหนดให้ ในกรณีที่ผู้เยาว์จะจดทะเบียนคู่ชีวิต ต้องได้รับความยินยอมของบิดา มารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้ปกครอง หรือศาล รวมทั้ง กำหนดให้ผู้เยาว์ย่อมบรรลุนิติภาวะ เมื่อจดทะเบียนคู่ชีวิต , กำหนดให้คู่ชีวิตมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา และมีอำนาจดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

รวมถึง กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับ ทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิต โดยแบ่งเป็นสินส่วนตัว และทรัพย์สินร่วมกัน คู่ชีวิตสามารถรับบุตรบุญธรรมได้ รวมทั้ง คู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งจะจดทะเบียน รับผู้เยาว์ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของคู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่ง มาเป็นบุตรบุญธรรมของตนด้วยก็ได้ เมื่อคู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย ให้คู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิและหน้าที่ เช่นเดียวกับคู่สมรส ตามบทบัญญัติใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก และกำหนดให้นำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยคู่สมรส ครอบครัว และบุตรบุญธรรม มาใช้บังคับแก่คู่ชีวิตด้วยโดยอนุโลม

ทั้งนี้ ครม ได้เห็นชอบ ให้กระทรวงยุติธรรมดำเนินการจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ภายหลังจากที่ร่าง พรบ มีผลใช้บังคับแล้ว รวมทั้ง ให้ร่วมกับกระทรวงอื่นๆ พิจารณาศึกษาผลกระทบ และแนวทางในการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความคุ้มครองสิทธิและหน้าที่ของคู่ชีวิต ให้มีความเป็นธรรม เท่าเทียม และไม่เป็นการเลือกปฏิบัติต่อสิทธิ และหน้าที่ตามกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันอย่างแท้จริง

หอยนางรม


Share